รู้จัก..โรคหัวใจล้มเหลว เลี่ยงรับประทานอาหารอย่างไร

ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะการทำงานผิดปกติของหัวใจ ที่ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างพอเพียงต่อความต้องการ รวมถึงไม่สามารถรับเลือดเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ แม้ร่างกายจะอยู่ในสภาวะพักผ่อน

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือนผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีโซเดียมน้อย เค็มน้อย เพราะหากทานอาหารที่มีโซเดียมมาก เค็มมาก อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำคั่ง น้ำท่วมปอด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ทำให้อาการที่เป็นอยู่มีความรุนแรงมากขึ้นและมีโอกาสเสียชีวิตได้

ควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารที่รับประทานในแต่ละวันโซเดียม คือแร่ธาตุซึ่งมีหน้าที่หลักในการรักษาสมดุลของน้ำและอิเลคโตรไลท์ (Electrolyte) ในร่างกาย และควบคุมระดับความดันโลหิต โดยร่างกายของเราสามารถขับน้ำและแร่ธาตุ รวมถึงโซเดียมได้ 3 ทาง ได้แก่ ปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่ร่างกายควรได้รับและไม่ทำให้เกิดอันตราย อยู่ที่ 2,400 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา ในหนึ่งวัน

โซเดียมอยู่ในอาหารประเภทไหนบ้าง

โซเดียม มักอยู่ในเกลือและสารให้ความเค็มต่าง ๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ นอกจากนี้โซเดียมอาจจะอยู่ในอาหารที่ไม่มีรสชาติเค็มอีกด้วย เช่น เบเกอรี่เเละขนมอบ ที่มีส่วนประกอบ อาทิเช่น ผงฟู เป็นสารที่ทำให้ขนมปังขึ้นฟู โซเดียมอัลจิเนต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อเจลให้ความข้นหนืด ผงกันบูด เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา เป็นต้น

อันตรายจากการรับประทานอาหารรสเค็มจัดต่อเนื่อง
การรับประทานอาหารรสเค็มมากไป ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหลอดเลือดในสมองแตกหรืออัมพาตได้ ดังนั้น การจำกัดหรือควบคุมปริมาณโซเดียม สามารถช่วยควบคุมและป้องกันความดันโลหิตสูง รวมทั้งป้องกันการเกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว ลดภาวะบวมน้ำ ในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคไตได้

อาหารที่ควรลด/เลี่ยง เพื่อควบคุมโซเดียม
อาหารแปรรูปต่าง ๆ จำพวกอาหารกระป๋องทุกชนิด
อาหารหมักดอง ผัก/ผลไม้ดอง
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ
เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า อาหารรสเค็มอื่น ๆ
เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ที่มีผงฟูเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร
เครื่องดื่มเกลือแร่
เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และส่งผลดีต่อผู้ป่วย
อาหารที่ควรเลือกรับประทานและส่งผลดีต่อผู้ป่วย ได้แก่ อาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด หรือประกอบอาหารทานเอง ซึ่งทำให้เราสามารถควบคุมปริมาณเครื่องปรุงเองได้ อาหารที่มีปริมาณโปแตสเซียมสูง เช่น ผักใบเขียวและผลไม้ และที่สำคัญควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

นอกเหนือจากการควบคุมโซเดียมในอาหารแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอต่อวัน ก็ยังเป็นวิธีพื้นฐานที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีได้ รวมถึงการเข้าพบแพทย์ในโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำ เพื่อเป็นการดูแลตัวเองจากภาวะหัวใจล้มเหลวนั่นเอง

ที่มาข้อมูล : www.princhealth.com
หากสนใจเรื่องราวอื่น ๆ สามารถติดตามอ่านต่อได้ที่ dvina-partner.com