อาบน้ำสุนัข

น้องหมาไม่ยอมอาบน้ำทำอย่างไรดี เป็นปัญหาโลกแตกที่พอถึงกำหนดทำความสะอาดทีไร เป็นอันต้องหนีไปซ่อนไม่ให้เราจับไปอาบน้ำทุกที กว่าจะจับตัวมาอาบน้ำได้บางครั้งเล่นเอาเล่าแทบหมดแรงกันเลยทีเดียว จริงๆ แล้วอาการไม่ชอบอาบน้ำไม่ได้เกิดขึ้นกับสุนัขทุกตัว แต่จะเกิดกับสุนัขบางตัวที่ไม่ชอบความชื้นหรือบางครั้งอาจเกิดจากการเข็ดขยาดเพราะน้ำเข้าหูเข้าจมูก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและฝึกนิสัยให้น้องหมารักความสะอาดและไม่กลัวการอาบน้ำ ในบทความนี้มีวิธีการอาบน้ำสุนัขมาฝากกัน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มปรับพฤติกรรม การเตรียมอุปกรณ์ และขั้นตอนการอาบน้ำสุนัขอย่างถูกวิธี

อาบน้ำสุนัข

การอาบน้ำสุนัขควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก

การอาบน้ำสุนัขเราไม่ควรอาบน้ำให้บ่อยจนเกินไป เพราะจะทำให้น้ำมันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของน้องหมาหายไป ผิวหนังจะแห้ง ทำให้เป็นโรคผิวหนังและอาจจะทำให้ขนของน้องหมาไม่เงางาม โดยเฉลี่ยแล้วเราควรอาบน้ำสุนัขเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งก็เพียงพอแล้ว หรืออาจจะดูที่ความเหมาะสมอย่างในกรณีที่น้องหมาไปเล่นซนจนสกปรกและไม่สามารถเช็ดออกได้หมด เราก็สามารถอาบน้ำให้น้องหมาได้

การอาบน้ำสุนัขควรจะเริ่มอาบน้ำให้น้องหมาตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะจะช่วยให้น้องหมาคุ้นเคยกับการอาบน้ำได้เร็วขึ้นคืออายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป และควรทำให้การอาบน้ำสุนัขเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน ช่วยกันอาบ พยายามอย่าดุน้องหมา ลูบหัวให้กำลังใจน้องหมาจะชื่นชอบ และไม่กลัวการอาบน้ำ นอกจากนี้เราควรเลือกสถานที่อาบน้ำให้เหมาะสม น้องหมาพันธุ์เล็กจะใช้พื้นที่ในการอาบน้ำไม่มากนัก อาจจะให้น้องหมาอาบในอ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้าในห้องน้ำ หรือในกรณีที่อยากให้อาบน้ำกลางแจ้งเพื่อรับแสงแดดอ่อนๆ แต่ต้องไม่อยู่ในที่ๆ มีลมแรง เพราะน้องหมาอาจจะเกิดอาการหนาวสั่นได้ และอาจจะใช้กะละมังเล็กๆ ที่น้องหมาสามารถลงไปยืนโดยไม่กระโดดหนีออกมาก็ได้ ที่สำคัญเราควรจะปูแผ่นยางกันลื่นรองอ่างหรือกะละมังขณะอาบน้ำสุนัข จะได้รู้สึกปลอดภัย และยอมอาบน้ำโดยไม่ขัดขืนด้วย

ขั้นตอนการปรับพฤติกรรมสุนัข

เนื่องจากไม่ใช่สุนัขทุกตัวที่ชอบการอาบน้ำ สำหรับสุนัขที่ชอบอาบน้ำก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับเจ้าของ แต่หากใครที่มีปัญหาว่าเจ้าสุนัขของเราไม่ชอบการอาบน้ำ ก่อนอื่นมาหาทางเพื่อปรับพฤติกรรมให้สุนัขยอมอาบน้ำ ตามวิธีดังนี้

  • การพาไปจุดที่อาบน้ำ

โดยการใส่สายจูงไว้จะได้หนีไม่ได้ และเราก็ควบคุมง่าย ถ้าสุนัขไม่ยอมเดินมาใส่สายจูงง่ายๆ ลองใช้ขนมล่อเพื่อล่อให้เดินเข้ามาหาเราใส่สายจูงได้ ห้ามวิ่งไล่จับสุนัขเด็ดขาด เพราะยิ่งวิ่งไล่เขายิ่งวิ่งหนี แล้วทุกครั้งที่เราหยิบสายจูงเขาจะติดนิสัยวิ่งหนี เพราะฉะนั้นพยายามจัดสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ให้เราได้เปรียบและเขาหมดโอกาสวิ่งหนี

  • ต้องยอมที่จะเดินไปจุดอาบน้ำและยืนนิ่งๆ ได้

โดยการใส่สายจูงแล้วพาเขาเดินไปจุดอาบน้ำ ตอนแรกเขาก็จะต่อต้าน เราสามารถเอาขนมล่อเพื่อให้เขาเดินไปจุดอาบน้ำขณะเราถือสายจูงไว้ พอเขายอมเดินไปจุดอาบน้ำ ให้ขนมกิน แล้วพาเดินออกจากจุดอาบน้ำไปเดินวนรอบบ้านสักรอบ แล้วเริ่มกระบวนการฝึกใหม่ ใช้ขนมล่อไปจุดอาบน้ำ พอเขาถึงจุดอาบน้ำก็ให้ขนมกินแล้วพาเดินออก

ฝึกจนกว่าเขาจะยอมเดินมาที่จุดอาบน้ำแบบไม่ต่อต้าน เดินมายืนที่จุดอาบน้ำแบบไหลลื่น เมื่อถึงจุดอาบน้ำให้เขายืนรอนิ่งๆ สัก 2 นาทีแล้วถึงให้ขนม แล้วพาเขาเดินออกจากจุดอาบน้ำ ทำอย่างนี้จนเขารอได้นานขึ้น พอเขารอได้นานขึ้น คราวนี้ไม่ต้องใช้ขนมอีกต่อไป เลิกใช้ขนมล่อ (เพราะถ้ายังใช้ขนมล่ออยู่ จะกลายเป็นติดสินบนสุนัข แล้วถ้าไม่มีขนม สุนัขก็จะไม่ยอม)

  • ต้องยอมยืนนิ่งๆ เมื่อสายยางเคลื่อนไหวไปมา

เมื่อเขายืนที่จุดอาบน้ำได้ เราถือสายจูงไว้ให้มั่นแต่สายจูงห้ามตึง แล้วค่อยๆ ขยับสายยางไปมา แต่ยังไม่ต้องเปิดน้ำ ให้ทำเป็นเหมือนอาบน้ำ แต่ไม่ต้องเปิดน้ำ
พยายามควบคุมผ่านสายจูงไม่ให้เขาหนีได้ ทำจนกว่าเขาจะยืนนิ่งๆ แม้เราจะขยับสายยางไปมาเขาก็ยังคงยืนนิ่งอยู่

  • ต้องยอมยืนนิ่งๆ เมื่อมีน้ำสัมผัสผิวหนัง

เมื่อเขายืนนิ่งๆ ได้แม้สายยางจะขยับ ต่อไปเอาสายยางวางที่พื้นแล้วเปิดน้ำ ให้น้ำไหลผ่านเท้าเท่านั้น ถ้าจะหนีเราก็ต้องควบคุมผ่านทางสายจูงเพื่อให้เขายืนนิ่งๆ พอยืนนิ่งได้แม้น้ำจะไหลโดนเท้าเขา เราก็ปิดก็อกน้ำแล้วพาเขาเดินออกมาจากจุดอาบน้ำ วันรุ่งขึ้นฝึกขั้นต่อไปคือ เอาสายยางล้างขาเขาทั้งสี่ถึงแค่โคนขา แต่ยังไม่ต้องให้ตัวเปียก เมื่อเขายอมยืนนิ่งๆ เราปิดน้ำ แล้วพาเดินออกมาจากจุดอาบน้ำ

  • วันรุ่งขึ้นฝึกต่อ

โดยการเปิดน้ำไหลผ่านก้น แล้วค่อยๆ ไล่มาถึงลำตัวไล่มาถึงหน้าอก ขั้นตอนนี้อาจมีคนช่วยถือสายจูงไว้ แล้วเราเป็นคนถือสายยางเพื่อง่ายต่อการควบคุม

การฝึกการอาบน้ำสุนัขในขั้นตอนของการปรับพฤติกรรมอาจจะต้องใช้ความพยายามและความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นเจ้าของจะต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ฝึกสุนัขทีละขั้นตอน อาจจะใช้เวลาแต่รับรองว่าเมื่อสุนัขปรับตัวได้แล้วจะทำให้เรื่องการอาบน้ำสุนัขเป็นเรื่องง่ายเลยทีเดียว

การเลือกแชมพูในการอาบน้ำสุนัข

การเลือกแชมพูในการอาบน้ำสุนัขควรใช้แชมพูสำหรับสุนัขโดยตรง เพราะผิวหนังสุนัขและผิวหนังของคนมีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติ ผิวสุนัขจะบอบบางกว่าผิวของคนเรามากๆ และมีค่า pH ที่เหมาะสมแตกต่างกัน คือผิวหนังของคนเราจะมีค่า pH มีเหมาะสมอยู่ที่ 5.5-5.6 ผิวหนังสุนัขจะมีค่า pH ที่เป็นกลางมากกว่าคือ อยู่ระหว่าง 6.2-7.4 ดังนั้นแชมพูหรือสบู่สำหรับคนเราจะมีความเป็นกรดสูงมากเกินไปสำหรับผิวสุนัข การใช้แชมพูสำหรับคนอาบให้น้องหมา ไม่ว่าจะเป็นแชมพูเด็กหรือแชมพูที่มีความอ่อนโยนมากขนาดไหนก็ไม่เหมาะสมที่จะอาบให้สุนัข การใช้แชมพูที่ไม่เหมาะสมอาบน้ำสุนัขเป็นประจำ อาจก่อปัญหาผิวหนังให้น้องหมาในระยะยาวได้

หากน้องหมามีปัญหาผิวหนังหรือเป็นสุนัขพันธุ์ผิวแพ้ง่าย เช่น ปั๊ก ชิสุ ชิวาว่า ปอมเมอเรเนียน ก็ควรใช้แชมพูอาบน้ำสุนัขสูตรอ่อนโยนที่สุดเพื่อป้องกันปัญหาหมาผิวแพ้ หรือน้องหมาผิวแห้งแตกได้ง่าย นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ควรคำนึงคือ ไม่ว่าแชมพูสุนัขที่เราใช้จะอ่อนโยนเพียงใดก็ตาม เราไม่ควรใช้เทแชมพูแล้วลูบไปที่ตัวสุนัขโดยตรงเมื่ออาบน้ำสุนัข เพราะผิวของสุนัขโดยทั่วไปบอบบางมากจริงๆ ส่วนใหญ่แล้ว แชมพูหมาแต่ละยี่ห้อจะมีบอกวิธีผสมแชมพูกับน้ำอยู่ว่าควรผสมในอัตราส่วนเท่าไร ให้เราผสมแชมพูกับน้ำในอัตราส่วนของยี่ห้อนั้นๆ ไว้ก่อน โดยอาจจะผสมไว้ในอ่างล้างหน้าหรือกะละมังที่จะใช้อาบน้ำให้สุนัข

อุปกรณ์การอาบน้ำสุนัข

การเตรียมอุปกรณ์การอาบน้ำสุนัขไว้ก่อนการอาบเป็นเรื่องสำคัญ ระหว่างที่เราอาบน้ำให้สุนัขบางทีถ้าลืมอุปกรณ์ที่ต้องใช้บางอย่างไป ต้องปล่อยน้องหมาไว้แล้วเดินไปหยิบมา ซึ่งการอาบน้ำสุนัขที่สะอาดรวดเร็วเป็นการป้องกันไม่ให้น้องหมาหนาวสั่นหรือป่วยได้ เพราะฉะนั้นต้องเตรียมอุปกรณ์เบื้องต้นไว้ก่อน

  1. แชมพูสุนัข
  2. ไดร์สำหรับเป่าขน
  3. ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดตัวน้องหมา
  4. สำลีอุดหู
  5. แปรง สำหรับแปรงขนให้เค้า สำหรับ หมาขนยาว
  6. กะละมังอาบน้ำ
  7. แผ่นยางกันลื่น (จะมีหรือไม่มีก็ได้)

อาบน้ำสุนัข

ขั้นตอนการอาบน้ำสุนัข

เมื่อเตรียมอุปกรณ์การอาบน้ำสุนัขเรียบร้อยแล้วก็มาถึงขั้นตอนการอาบการอาบน้ำให้สุนัข เรื่องนี้จะมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่ได้เลย เพราะบางครั้งการอาบน้ำไม่ถูกวิธีก็เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้น้องหมามีอาการระคายเคืองหรือผิวแพ้ได้ จึงขออธิบายขั้นตอนและวิธีการอาบน้ำหมาอย่างถูกวิธีกัน เผื่อว่าใครจะอาบน้ำให้น้องหมาเองหรือจะไปอาบที่ร้านอาบน้ำหมา จะได้ทราบวิธีอาบน้ำสุนัขที่ถูกต้องตามขั้นตอนกัน

1. ขั้นตอนการเตรียมน้องหมาให้พร้อมก่อนอาบ

ก่อนอาบน้ำสุนัขควรแปรงขนสุนัขให้ทั่วก่อน เพื่อขจัดขนที่ผลัดและเพื่อขจัดสิ่งสกปรกที่ติดขนมาก่อนอาบน้ำ และควรตรวจสอบว่ามีขนที่พันกันหรือไม่ เพราะเมื่ออาบแล้วขนที่พันกันจะพันแน่นมากขึ้น ทำให้เค้าเจ็บและอาจกลัวการอาบน้ำครั้งต่อไปได้ นอกจากนี้เราควรนำสำลีมาอุดหูให้น้องหมาด้วย เพื่อกันน้ำเข้าหู

2. ขั้นตอนการอาบน้ำสุนัข

  • เริ่มจากการใช้น้ำเปล่าราดตัวสุนัขให้เปียกก่อน

โดยน้ำที่ใช้อาบน้ำสุนัขควรจะเป็นน้ำอุ่นเพื่อป้องกันไม่ให้เค้าหนาวและอาจไม่สบายได้ ค่อยๆ ฉีดน้ำเบาๆ จากขาหลังไปหาส่วนหัว เพื่อให้เค้าได้ปรับสภาพกับอุณหภูมิน้ำ หลังจากนั้นให้ผสมแชมพูกับน้ำสะอาดตามอัตราส่วนของแชมพูชนิดนั้นๆ ให้เจือจางแล้วค่อยราดแชมพูที่ผสมแล้วลงบนตัวน้องหมา ไม่ควรใช้แชมพูราดลงบนตัวน้องหมาโดยตรง อย่าลืมว่าผิวหนังของเค้าบอบบางมากกว่าผิวของเรามากๆ หรือเราจะผสมแชมพูกับน้ำไว้ก่อนแล้วค่อยนำเค้าลงอาบ ตามที่แนะนำในหัวข้อด้านบน

  • เมื่อฟอกสบู่จนทั่วแล้วให้ใช้มือนวดตัวน้องหมาเบาๆ ให้ทั่ว

หรือจะใช้แปรงอาบน้ำสุนัขที่ทำจากยางนวดเบาๆ ทั่วตัวก็ได้ อย่าลืมนวดทำความสะอาดให้ทั่วตัว โดยเฉพาะในจุดอับ เช่น หลังใบหู ซอกนิ้วต่างๆ หรืออุ้งเท้า เป็นต้น ในขั้นตอนนี้ให้ใช้มือนวดเบาๆ อย่าขยี้หรือถูตัวสุนัขแรง เพราะอาจทำให้ขนน้องหมาพันกันจนเจ็บหรืออาจเกิดบาดแผลจากการขยี้ได้

  • ล้างตัวสุนัขด้วยน้ำสะอาดออกให้หมด

เมื่ออาบน้ำสุนัขเสร็จแล้วควรจะล้างน้ำออก 2-3 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าล้างคราบแชมพูออกจนหมดจดแล้วจริงๆ

3. ขั้นตอนหลังการอาบน้ำสุนัข

ควรเช็ดตัวสุนัขหรือเป่าขนให้แห้งและแปรงขนหมาทุกครั้งหลังอาบน้ำ ไม่ควรใช้ไดร์ที่เป่าลมร้อนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังสุนัขระคายเคืองได้ ให้เริ่มโดยการเปิดไดร์เบาๆ ค่อยๆ เป่าลมให้น้องหมาโดยเริ่มจากส่วนหางก่อน แล้วเป่าขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อให้น้องหมาชินกับเสียงไดร์ และไม่รู้สึกร้อนเกินไป และควรถือไดร์ให้ห่างจากตัวสุนัขประมาณ 20-30 เซ็นติเมตร

ขั้นตอนการอาบน้ำสุนัขพันธุ์เล็ก

สำหรับการอาบน้ำสุนัขพันธุ์เล็กไม่ต่างกับสุนัขทั่วไป แต่จะมีข้อควรระวังบางเรื่อง ซึ่งมีอะไรบ้างนั้นมาดูวิธีการอาบน้ำสุนัขพันธุ์เล็กกันเลย

  1. ใช้น้ำอุ่นเพราะถ้าใช้น้ำเย็นน้องหมาอาจจะไม่สบายได้ ยกเว้นกรณีที่น้องหมาเป็นโรคผิวหนังควรจะใช้น้ำเย็น
  2. ในการอาบน้ำให้เริ่มฉีดน้ำเบาๆ จากขาหลังไปหาหัวของน้องหมา เพราะน้องหมาจะได้ปรับสภาพกับอุณหภูมิของน้ำก่อน
  3. ใส่แชมพูที่เจือจางกับน้ำแล้วลูบให้ทั่วตัวและในที่ที่มักจะมองผ่าน เช่น ระหว่างซอกนิ้ว อุ้งเท้า หลังใบหู และใต้คาง ในกรณีน้องหมาขนยาว ไม่ควรขยำหรือขยี้ขนของน้องหมา เพราะจะทำให้ขนของน้องหมาพันกันและเป็นสังกะตังได้หลังอาบน้ำ
  4. ล้างแชมพูออกและควรล้างแชมพูให้หมด ถ้าเจ้าของล้างแชมพูไม่หมด น้องหมาอาจจะระคายเคือง และทำให้เป็นโรคผิวหนังได้ ควรระวังอย่าให้แชมพูหรือน้ำเข้าตาและหูของน้องหมา เพราะอาจจะทำให้เกิดการระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้
  • ข้อควรระวังในการอาบน้ำสุนัขพันธุ์เล็กหน้าสั้น

น้องหมาหน้าสั้นจะมีปัญหาเรื่องตาและระบบหายใจ จึงควรระวังเป็นพิเศษไม่ให้น้ำเข้าตาและ จมูก เวลาอาบน้ำน้องหมาหน้าสั้น เราอาจจะฉีดน้ำเบาๆ และฟอกแชมพูจากลำตัวถึงคอ ส่วนใบหน้าของน้องหมาอาจจะหาผ้าชุบน้ำบิดหมาดหรือสำลีเช็ดทำความสะอาดแทนการใช้น้ำ และควรใช้ผ้าแห้งเช็ดอีกครั้ง ในกรณีที่น้องหมาหน้าสั้นดิ้นหรือขัดขืน พยายามจะหนีการอาบน้ำ ไม่ควรดึงบริเวณหนังคอของน้องหมาไปทางด้านหลังเพราะอาจจะเกิดอันตราย ทำให้ดวงตาของน้องหมาหลุดออกมาจากเบ้าได้

  • หลังการอาบน้ำ

ควรเช็ดตัวน้องหมาให้แห้งสนิทและควรแปรงขนทุกครั้ง น้องหมาที่ขนสั้นอาจจะใช้หนังชามัวร์ แปรงขนหมูหรือแปรงหมุด แปรงขนน้องหมา เพื่อเป็นการนวดผิวหนังและขจัดขนผลัดที่ยังออกไม่หมด และยังเป็นการทำให้เส้นขนของน้องหมาเงางามอีกด้วย

  • ข้อแนะนำ

หลังอาบน้ำสุนัขเล็บจะนิ่ม หากเล็บของน้องหมาเริ่มยาวควรตัดออก เพราะหากเล็บของน้องหมายาวเกินไปก็อาจจะทำให้น้องหมาเดินไม่ถนัด และเล็บของน้องหมาที่ยาวก็อาจจะทิ่มเข้าไปในเนื้อทำให้น้องหมาเจ็บได้

บทสรุป

อาบน้ำสุนัขเป็นเรื่องสนุก ทำให้ได้สร้างความใกล้ชิดและส่งผ่านความรู้สึกดีๆ ให้แก่กันระหว่างสุนัขและเจ้าของ แต่ควรอาบน้ำสุนัขให้ถูกวิธีเพื่อความสะอาดและสุขอนามัยที่ดี สำหรับสุนัขที่ไม่ชอบการอาบน้ำเจ้าของสามารถนำคำแนะนำในบทความนี้ไปปรับใช้ดู ช่วงแรกหากยังไม่ได้ผลก็อย่าพึ่งถอดใจไป ขอให้อดทนและพยายามทำอย่างต่อเนื่องจนสุนัขสามารถอาบน้ำได้และไม่กลัวการอาบน้ำอีกต่อไป

 

 

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่  dvina-partner.com
สนับสนุนโดย  ufabet369